ยินดีต้อนรับสู้ความเป็นไทยค่ะ

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

คลังปัญญาไทย

       ศาสนาพุทธ หรือ พระพุทธศาสนา หรือ พุทธศาสนา โดยความหมายแล้ว หมายถึงศาสนาแห่งความรู้แจ้ง เป็นศาสนาที่มีพระรัตนตรัย เป็นสรณะอันสูงสุด อันได้แก่ พระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์ โดยพระรัตนตรัยทั้ง 3 นี้ย่อมมีคุณเกี่ยวพันเป็นอันเดียวกัน จะแยกออกจากกันโดยเฉพาะไม่ได้ ด้วยพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมก่อนแล้วสอนให้พระสงฆ์รู้ธรรม พระธรรมนั้น พระสงฆ์ซึ่งเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าย่อมจำทรงไว้ ปฏิบัติและสั่งสอนสืบต่อพระศาสนา พระรัตนตรัยนี้เปรียบด้วยวัตถุวิเศษที่มีราคาอย่างสูง คือ แก้ว จึงเรียกพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่า รัตนะ คำว่า "รัตนะ" แปลว่าแก้ว,สิ่งมีค่าสูงยิ่ง,สิ่งประเสริฐ ซึ่งคำว่ารัตนะในที่นี้จะหมายถึง พระรัตนตรัย ซึ่งก็คือแก้ว 3 ดวง ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาก็คือนับถือแก้ว 3 ดวงนี้ว่ามีคุณ ย่อมจะเป็นที่พึ่งที่ระลึกแก่ตน


หลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาได้ถูกบันทึกรวบรวมไว้ในคัมภีร์ชื่อ พระไตรปิฏก อันประกอบด้วย "พระธรรม" คือความรู้ในสัจธรรมต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แล้วนำมาแสดงแก่ชาวโลก กับ "พระวินัย" คือข้อบังคับต่างๆ ที่ทรงบัญญัติไว้สำหรับผู้ที่บวชเป็นสาวกในศาสนานี้ผู้ถูกเรียกว่า พระภิกษุสงฆ์ (ชาย) และ พระภิกษุณีสงฆ์ (หญิง)
พระพุทธเจ้าได้เริ่มออกเผยแผ่คำสอนดังกล่าวในภูมิภาคที่เป็นประเทศอินเดียในปัจจุบัน ตั้งแต่เมื่อ 45 ปีก่อนพุทธศักราช ปัจจุบันศาสนาพุทธได้เผยแผ่ไปทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะใน ทวีปเอเชีย ทั้งในเอเชียกลาง และเอเชียตะวันออก, ตลอดจนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันรวมถึงประเทศไทยด้วย
นอกเหนือจากพระรัตนตรัยแล้ว ผู้นับถือโดยทั่วไปที่ไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ เราเรียกว่า พุทธศาสนิกชน พุทธมามกะ พุทธสาวก หรือ อุบาสก (ชาย) /อุบาสิกา (หญิง) ภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา รวมกันเรียกว่า พุทธบริษัท 4
     หลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา
  • พุทธศาสนา สอน "สัจธรรม" คือความจริงแท้ของชีวิตและกฎธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการหลุดพ้นจากวงจรแห่งทุกข์ทั้งปวง
  • หัวใจของพุทธศาสนาคือ "หมั่นทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"
  • พุทธศาสนา กล่าวว่าสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ต่างมีเหตุให้เกิด เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นผลก็เกิดขึ้นตาม เมื่อเหตุนั้นไม่มีอีกแล้วผลก็ดับไป
  • อริยสัจ4 สอนให้เข้าใจถึงหลักความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ คือ ทุกข์ (มีความยากลำบาก หรือ มองตัวปัญหาสมุทัย (ความทุกข์นั้นมีสาเหตุให้เกิด หรือ มองสาเหตุของปัญหานิโรธ (ความหมดสิ้นแห่งทุกข์ หรือ มองจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหามรรค (วิถีทางอันประเสริฐที่จะนำให้ถึงความดับทุกข์ หรือ ลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหานั้น ๆ)
  • พรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมประจำใจเพื่อให้ตนดำรงชีวิตได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ ประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการ คือ เมตตา(ความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นมีความสุข) กรุณา (ความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์) มุทิตา (ความยินดีที่ผู้อื่นมีความสุขในทางที่เป็นกุศล) อุเบกขา (การวางจิตเป็นกลาง การมีเมตตา กรุณา มุทิตา เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าตนไม่สามารถช่วยเหลือผู้นั้นได้ จิตตนจะเป็นทุกข์ ดังนั้น ตนจึงควรวางอุเบกขาทำวางใจให้เป็นกลาง และพิจารณาว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมที่ได้เคยกระทำไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม กรรมนั้นย่อมส่งผลอย่างยุติธรรมตามที่เขาผู้นั้นได้เคยกระทำไว้อย่างแน่นอน)
  • ไตรลักษณ์ คือหลักการที่ว่าสิ่งต่างๆ ในโลกมี 3 ลักษณะดังนี้คือ อนิจจัง (ไม่เที่ยงแท้ มีอันต้องแปรปรวนไป) ทุกขัง (ถูกบีบคั้นให้เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา) อนัตตา (ไม่มีแก่นสารอะไรให้ถือเอาเป็นตัวตนของใครๆ ได้อย่างแท้จริง)
  • สังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิดของจิตวิญญาณทั้งหลายนับชาติไม่ถ้วน ผ่านไประหว่าง ภพภูมิ คือมิติต่างๆ ตั้งแต่เลวร้ายที่สุดไปจนถึงสุขสบายที่สุด ที่รองรับการเกิดของสิ่งมีชีวิต การเวียนว่ายของจิตวิญญาณมีเหตุมาจาก "อวิชชา" คือความที่จิตไม่รู้ถึงความเป็นจริง ไปหลงยึดเอาว่าสิ่งต่างๆ มีตัวตน ซึ่งเป็นรากเหง้าของกิเลสทั้งหลาย ทางออกไปจากสังสารวัฏมีทางเดียว คือการดำเนินตามเส้นทางอริยมรรค
  • กฎแห่งกรรม กรรม คือการกระทำทุกอย่างที่มีเจตนาสั่งการโดยจิตของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าเป็นการกระทำที่ดี (บุญ/กุศล) หรือไม่ดี (บาป/อกุศล) หรือกลางๆ ย่อมจะไม่สูญหายไปไหน แต่รอเวลาที่จะให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับการกระทำนั้นๆ สะท้อนกลับมาหาผู้กระทำเสมอ โดยไม่สามารถนำบุญกับบาปมาหักล้างกันได้โดยตรง กฎแห่งกรรมนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่กำหนดความเป็นไปของแต่ละจิตวิญญาณในสังสารวัฏ
  • นิพพาน คือสภาพที่พ้นออกไปเหนือโลก ออกไปจากสังสารวัฏ เป็นความสุขอันเที่ยงแท้ เป็นเป้าหมายอันสูงสุดที่พระพุทธศาสนาสอนให้บรรลุถึง
  • เมื่อรวมหลักการปฏิบัติตามทางของพุทธศาสนาทั้งหมดให้เข้าใจได้ง่าย ก็มีอยู่ 3 คือ
  1. ละเว้นความชั่ว
  2. ทำความดี
  3. ฝึกใจให้บริสุทธิ์
อีกนัยหนึ่งเมื่อจำแนกตามลำดับขั้นตอนคือ
  1. ศีล (ฝึกตนให้ละเว้นจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น)
  2. สมาธิ (ฝึกความตั้งมั่นของจิต)
  3. ปัญญา (ใช้จิตพิจารณาให้เห็นความเป็นจริง จนกระทั่งทำลายอวิชชาได้ในที่สุด)
ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนานับเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นเพื่อปรับปรุง และแก้ไขสังคมอินเดียในยุคนั้นให้ดีขึ้นจากสภาพการณ์หลายอย่าง เช่น จากการกดขี่ทางชนชั้นวรรณะของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู การเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ชัดเจน การถือชั้นวรรณะอย่างเข้มงวด การใช้สัตว์เป็นจำนวนมากเพื่อบวงสรวงบูชายัญ ตลอดจนการกดขี่สตรี พุทธศาสนาจึงเสมือนน้ำทิพย์ชโลมสังคมอินเดียโบราณให้ขาวสะอาดมากกว่าเดิม คำสอนของพุทธศาสนาทำให้สังคมโดยทั่วไปสงบร่มเย็น
ศาสนาแห่งความรู้และความจริง
พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความรู้ เพราะเป็นศาสนาแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธองค์เอง จากปัญญาของพระองค์ และธรรมที่พระองค์ตรัสรู้คือ อริยสัจ 4 ก็เป็นความจริงอย่างแท้จริง ทรงตรัสรู้โดยไม่มีใครสั่งสอน นักปราชญ์ทั้งหลายทั้งในอดีต และปัจจุบันจึงกล่าวยกย่อว่าเป็นศาสนาที่ประกาศความเป็นอิสระของมนุษย์ให้ปรากฏแก่โลกยิ่งกว่าศาสนาใดๆที่มีมา
ศาสนาแห่งอิสระภาพ
พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่ผูกติดกับพระผู้ดลบันดาล หรือพระเจ้า ไม่ได้ผูกมัดตนเองไว้กับพระเจ้า ไม่พึ่งพาอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า เชื่อในความสามารถของมนุษย์ว่ามีศักยภาพเพียงพอ โดยไม่ต้องพึ่งอำนาจใดๆภายนอก เชื่อว่ามนุษย์เองสามารถปลดเปลื้องความทุกข์ได้โดยไม่รอการดลบันดาล พุทธศาสนาไม่มีการบังคับให้คนศรัทธา หรือเชื่อ แต่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง แต่หากจะเปรียบเทียบกับศาสนาอื่นที่มีพระเจ้า ชาวพุทธทุกคนคือพระเจ้าของตัวเอง เนื่องจากตัวเองเป็นคนกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง ว่าจะมีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตหรือมีความตกต่ำในชีวิต จากการประพฤติปฏิบัติของตัวเอง ซึ่งต่างกับศาสนาที่มีพระเจ้า ที่ชะตาชีวิตทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่พระเจ้ากำหนดมาแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่ว่าจะเจอเรื่องดีหรือร้ายก็ต้องทนรับชะตากรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น